>
logo
asset
asset
สล่าแจ๊ค
สล่าแจ๊ค เกิดเมื่อปี พ.ศ ๒๕๒๒ สล่าแจ็คเติบโตมาท่ามกลางสถาปัตยกรรมที่เปรียบเสมือนเป็นครูใหญ่ทั้งวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดปงยางคก ด้วยความสนใจใฝ่รู้นำพาให้ชอบไปวัดตั้งแต่เด็ก หลังเลิกเรียนและวันหยุดจะปั่นจักรยานไปเที่ยววัดเสมอ ประกอบกับครอบครัวมีฐานอาชีพช่างไม้ จึงนำความชอบความใฝ่รู้ไปศึกษาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากศึกษาจึงได้นำความรู้ทั้งศิลปะเชิงช่าง ประวัติศาสตร์ และอื่น ๆ ทั้งยังศึกษาเอกสารโบราณ และสัมภาษณ์ช่างรุ่นเก่าๆ เกี่ยวกับวิธีคิดและระเบียบแบบแผนในการสร้างงานสถาปัตยกรรมล้านนา นำมาต่อยอด ความรู้เชิงช่างที่เคยใฝ่รู้มาแต่เด็ก ใฝ่รู้ศึกษาจนพบว่าหลักการสร้างวิหารของล้านนามีสัดส่วนเฉพาะที่คิดผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “ไม้มอกวิหาร” จึงนำไม้มอกมาเทียบกับสัดส่วนวิหารล้านนาในหลายๆ วัดทางภาคเหนือ ทั้งจังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง พบว่าวัดในล้านนามีอัตลักษณ์เฉพาะตัว คือ “ไม้มอกวิหาร” รูปแบบรูปทรงของวิหารทางล้านนาจึงคลาดเคลื่อนไปจากรูปแบบเดิม
“ไม้มอก” คือรูปแบบของวัดทางล้านนา”
มอก

จากการศึกษาค้นคว้าของสล่าแจ๊ค เกี่ยวกับระเบียบสัดส่วนในการออกแบบก่อสร้างวิหารสกุลช่างล้านนาพบว่า มีสูตรการคำนวณระเบียบสัดส่วนในการออกแบบเป็นแม่บทสืบทอดกันมา เรียกในภาษาถิ่นเหนือว่า “มอก” หรือ “แม่มอก” ซึ่งใช้ได้ในการก่อสร้างหลังคาแบบ “ขื่อม้าต่างไหม” และ “ขื่อต่างโย”

คำว่า “มอก”ภูมิปัญญาเชิงช่างล้านนา ในงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกันออกไป และไม่มีขนาดตายตัว เมื่อกำหนดขนาดที่ต้องการแล้วจึงจะนำมอกไปคำนวณตามสูตรที่ใช้คำนวณในงานนั้น ๆ เช่น มอกวิหารกำหนดจากการถอดส่วนความกว้างของวิหาร มอกพระพุทธรูปกำหนดจากการถอดส่วนความกว้างของหน้าตัก “มอกวิหาร” บ้างเรียกว่า “สูตรการหักไม้วิหาร” เป็นวิธีการกำหนดระเบียบสัดส่วนในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมวิหารในภาคเหนือ ซึ่งคำว่า “มอก” หมายถึง สัดส่วนที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักในสร้างสรรค์ศิลปสถาปัตยกรรม ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดความลงตัวและงดงามตามที่นิยมของท้องถิ่น อาทิ วิหาร เรือน พระพุทธรูป เกวียน เป็นต้น

มอก

จากการศึกษาพบ “มอกวิหาร” บันทึกอยู่เอกสารเก่า ซึ่งสันนิษฐานว่าวิธีการกำหนดระเบียบสัดส่วนในการก่อสร้างเช่นนี้มีมาตั้งแต่สมัยล้านนา และมีการถ่ายทอดความรู้เป็นภูมิปัญญาเชิงช่างสืบทอดต่อเนื่องกันมา ซึ่งยังพบเป็นภูมิปัญญาเชิงช่างของช่างอาวุโสที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างวิหารตามวิธีการแบบเก่า และลูกศิษย์ผู้ติดตามครูบามหาเถระที่บูรณะก่อสร้างวัดในอดีต และสามารถสืบทอดวิธีการดังกล่าว

“หัวใจสำคัญการสร้างวิหาร” คือ “ไม้มอก”
วิหารล้านนาจะมีสัดส่วนรูปทรงที่เข้ากับอัตลักษณ์ล้านนา
มอกแม่สิบสอง
“มอกแม่สิบสอง” คือ สูตรที่ใช้คำนวณในการก่อสร้างวิหารหรืออุโบสถแบบโบราณที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากใช้กับอาคารขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เริ่มจากการกำหนดความกว้างของตัวอาคารแล้วจึงขึงเชือกตาม “ลวงขวาง” ซึ่งหมายถึง ระยะทางกว้างหรือทางสกัด แล้วจึงนำมาแบ่งออกเป็น ๑๒ ส่วนเท่าๆ กัน จากนั้นจึงนำ ๑ ส่วนมาเป็นขนาดของ “ไม้มอก” ซึ่งมักจะใช้คำว่า “แม่” หรือ “ไม้” เรียกขนาดของสัดส่วนที่ถูกกำหนดดังกล่าว
มอกแม่สิบสอง
“มอกวิหารแม่สิบหก” คือ สูตรคำนวณการก่อสร้างวิหารอีกแบบหนึ่ง สำหรับการสร้างวิหารที่มีสามชาย (หลังคาจั่วและปีกนกรวมกัน ๓ ผืนหลังคา) ซึ่งเป็นวิหารขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยเริ่มกำหนดความกว้างของวิหารก่อนแล้วใช้ขึงเชือกแนวขวางเช่นเดียวกันกับแม่สิบสอง เพียงแต่นำมาเป็นออกเป็น ๑๖ ส่วน จากนั้นจึงนำ ๑ ส่วนมากำหนดเป็นขนาดของไม้มอก เมื่อได้ระยะของไม้มอกแล้ว จะทำการแบ่งส่วนขื่อทั้งหมด
มอกแม่สิบสอง
“มอกแม่สิบแปด” คือ สูตรคำนวณการก่อสร้างวิหารสำหรับการสร้างวิหารที่มีชายคาแบบสามชาย (หลังคาจั่วและ ปีกนกรวมกัน ๓ ผืนหลังคา) ซึ่งเป็นวิหารขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยเริ่มจากการกำหนดความกว้างของตัวอาคารเช่นเดียวกับแบบแม่สิบสองและแม่สิบหก เพียงแต่นำมาแบ่งออกเป็น ๑๘ ส่วน จากนั้นจึงนำ ๑ ส่วนมาเป็นขนาดของไม้มอก เมื่อได้ไม้มอกและทราบถึงสัดส่วนทั้งหมดตามสูตรแม่มอกแล้ว จึงคำนวณขนาดของขื่อจากไม้มอก โดยเริ่มจากการใช้ไม้มอกจำนวน ๓ แม่ วัดจากด้ายซ้ายและด้านขวาเข้าหากัน และถัดมาแบ่งเข้าข้างละ ๓ แม่อีกครั้ง ทั้ง ๒ ส่วนนี้จะเป็นส่วนของขื่อ ปีกนกนอกและขื่อปีกนกกลาง ที่เหลือส่วนกลาง ๖ แม่ จะเป็นขื่อหลวงรวมไม้มอกทั้งหมดเป็น ๑๘ แม่พอดี ส่วนวิธีการคำนวณโครงสร้างใช้รูปแบบเดียวกันกับแม่สิบสองและแม่สิบหก วิหารแม่ ๑๘ สามชาย เช่น วัดสวนดอก