logo
asset
asset
สล่าจุล
ด้วยความที่สล่าจุลจบปริญญาตรี ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงมีความรู้พื้นฐานของการออกแบบ แต่ด้วยร่างกายในตอนนั้นเป็นช่วงหายจากไข้ป่า ทำให้ไม่สามารถเขียนแบบเป็นเล่มได้ เนื่องจากมือแข็งจากการทำงานหนัก จึงใช้ความสามารถจากการเรียนทำหุ่นจำลอง โดยใช้วัสดุเศษกระดาษเท่าที่หาได้แถวบ้าน ใช้กรรไกรและกาวตัดประกอบ ประมาณ ๑ อาทิตย์ นำเสนอให้เจ้าของเรือนให้พอนึกภาพออก และพัฒนาแบบผ่านหุ่นจำลองมาเรื่อยๆ
“ตัดโมเดลใช้กรรไกรตัด ใช้เศษกระดาษเท่าที่หาได้แถวบ้าน ผมเสียดาย กระดาษไม่ได้เก็บไว้ ไม่ได้ถ่ายรูป ไม่มีเครื่องมือ ผมไม่มีตังค์”
สล่าเรือน

สล่าจุลใช้หลักการจากการเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ในการออกแบบที่ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานการใช้เรือน สอดคล้องกับบุคลิกเจ้าเรือนและสภาพแวดล้อม และยังคงความเชื่อล้านนาในการสร้างเรือน มีคลายไปบางกรณี แต่ยังคงพิธีสำคัญไว้ การออกแบบก็ยังถือคติเดิมบ้าง

เอาจ่องใหญ่พ่อ จ่องน้อยลูก (จั่วใหญ่พ่อ จั่วน้อยลูก) พ่ออยู่ตะวันออก ลูกอยู่ตะวันตก ไม่ให้เงาลูกไปทับพ่อแม่ ยุ่งข้าวก็เอาไปอยู่ตะวันออกของเรือน แล้วก็ขันไดเลขคี่ แต่โฉลกแท้ๆลึกๆมันก็คลี่คลาย เพราะมันไม่ใช่บ้านล้านนา มันเป็นบ้านร่วมสมัย ปกเสาที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ปู่จ้านมาทำสะตวงขึ้น แล้วก็มีเสาขวัญเสานาง ความสูงเอาของเจ้าเรือนมาวัด

“โรงเรียนที่นำเข้าสู่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่แรก คือโรงเรียนเรียนไม้คือจากสถานที่ก่อสร้างบ้านในเขตศรีบัวบาน สอนโดย(ครู)สล่าทั้งหมด”
สล่าเรือน

สล่าจุลมักเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาตินำมาสร้างเรือน เช่น วัสดุไม้ เนื่องจากส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพที่ดี ซึ่งได้ทั้งจากไม้ท่อนและไม้จากเรือนเก่า นำมาออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน และแนะนำให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสบาย

สล่าจุลเป็นที่บุคคลที่มีความรู้เรื่องไม้โดยไม่ได้จบปริญญา แต่เพียงเพราะความรัก สนใจ และใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา จึงเกิดองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่ได้ “ประสบ” จาก “การณ์” จริง จากชีวิตในแต่ละช่วง ทั้งช่วงที่ย้ายมาอยู่ลำพูนใหม่ ได้เรียนรู้เรื่องต้นไม้ ดมกลิ่นไม้ ดูลายใบไม้ เพาะเมล็ดปล้าไม้ป่า จากที่ศรีบัวบานในช่วงที่คุมงานก่อสร้าง ด้วยปัจจัยของสถานที่ที่เป็นป่า ทำให้สามารถเรียนรู้ได้สะดวก และความจำเป็นต้องหาความรู้เพื่อการอยู่รอด สร้างรายได้ในช่วงเวลาหลังจากนั้นที่ประสบภาวะเศรษฐกิจปี ๔๐ จึงเรียนรู้เรื่องต้นไม้ ไม้ จากการทำงานพาเที่ยวป่าเช่นกัน

สล่าเรือน

สล่าจุลจะนำเรื่องราว ภูมิปัญญาของพื้นที่ที่ออกแบบมาร่วมใช้เสมอ เนื่องจากหากเราจะสร้างเรือนอยู่ เราไม่ควรแปลกแยก เราควรกลมกลืนไปบริบทและสภาพแวดล้อมโดยรอบ เพื่อที่จะไม่ให้ผู้ที่อยู่มาก่อนรู้สึกอึกอัด เกิดความไม่สบาย ระหว่างที่ก่อสร้างออกแบบเรือน สล่าจุลมักจะออกเดินทางไปดูผลงานของเรือนในพื้นที่นั้นๆ เพื่อนำมาออกแบบให้ร่วมสมัยเข้ากับสภาพแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะเป็นองค์ประกอบเรือนแล้ว ยังรวมไปถึงการประดับตกแต่งของสวน สภาพแวดล้อมรอบบ้าน ที่สล่าจุลจะแนะนำให้ใช้ตามวิถีของผู้คนที่นั้น ไม่ให้รบกวนหรือสร้างความไม่สบายให้แก่ผู้อยู่มาก่อน ทำให้เจ้าเรือนและสภาพแวดล้อมทั้งผู้คนและธรรมชาติได้อยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตร